“Mitsubishi Xpander CROSS” รถ 7 ที่นั่งราคาเข้าถึงง่าย เหมาะสำหรับครอบครัวขยาย

Mitsubishi Xpander CROSSรถ 7 ที่นั่งราคาเข้าถึงง่าย เหมาะสำหรับครอบครัวขยาย

  เชื่อว่าหลายคนที่กำลังจะเริ่มชีวิตครอบครัว ก็เริ่มที่จะมองหารถคันใหม่เพื่อตอบสนองการใช้งานให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเป็นเจ้าของรถยนต์ 7 ที่นั่ง ก็ใช้ว่าจะต้องจ่ายเงินหลักล้านเสมอไป

เพราะยังมีรถในกลุ่ม MPV พิกัดเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรที่น่าสนใจอีกหลายรุ่น แลกกับค่าตัวไม่ถึงล้านบาท ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “Mitsubishi Xpander CROSS” โฉมไมเนอร์เชนจ์ปี 2023

ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ และกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด

   Mitsubishi Xpander CROSS ถูกวางจำหน่ายควบคู่ไปกับ Xpander รุ่นปกติ โดยมีการปรับรูปลักษณ์ให้มีส่วนผสมของความเป็นรถเอสยูวีเข้าไป

ประกอบกับช่วงล่างแบบยกสูงที่ช่วยให้รุ่น CROSS มีความสูงจากพื้นถนนถึง 220 มิลลิเมตรเทียบเท่ากับรถเอสยูวีแท้ๆ จึงสามารถรองรับสภาพพื้นผิวถนนได้อย่างหลากหลายมากขึ้น

ไม่เว้นแม้แต่ปัญหา “น้ำรอการระบาย” ที่ชาวกรุงฯ จะต้องพบเจอกันแทบทุกปี

ภายนอก

     รูปลักษณ์ภายนอกของ Mitsubishi Xpander CROSS ถูกพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับ Xpander รุ่นปกติ โดยยังคงเอกลักษณ์การออกแบบ “Dynamic Shield” เอาไว้อย่างเหนียวแน่น

มาพร้อมไฟหน้าแบบ LED ที่ถูกออกแบบให้เป็นรูปตัว T และไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED เรียงตัวอย่างสวยงามอยู่ด้านบน พร้อมด้วยกระจังหน้าและกันชนหน้าที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด

ประดับฝากระโปรงหน้าด้วยสัญลักษณ์ “XPANDER CROSS” ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้ดูแข็งแรงบึกบึนมากยิ่งขึ้น

  ส่วนด้านท้ายมีการยกชุดไฟท้ายมาจาก Xpander รุ่นปกติด้วยเช่นกัน โดดเด่นด้วยไฟท้ายแบบ LED ที่ส่องสว่างเป็นรูปตัว T ในยามค่ำคืน

มาพร้อมไฟเบรกที่เปลี่ยนเป็นแบบ LED ให้ความสว่างมองเห็นได้อย่างชัดเจนเพื่อความปลอดภัย รวมถึงกันชนท้ายที่ถูกออกแบบเพื่อให้ดูเข้ากับรูปลักษณ์ด้านหน้า

     ล้ออัลลอยของ Xpander CROSS มีขนาด 17 นิ้ว ตกแต่งด้วยสีทูโทนแบบ Machine Finished

พร้อมเสริมความบึกบึนด้วยชุดซุ้มล้อสีดำที่มีขนาดบางลงกว่ารุ่นเดิมข้างละ 5 มม. ช่วยให้ตัวรถโดยรวมดูมีความลงตัวมากยิ่งขึ้น

   นอกจากนี้ Xpander CROSS ยังมีการเพิ่มตัวถังสีเขียว Green Bronze Metallic (เพิ่มเงิน 10,000 บาท) ที่มีให้เลือกเฉพาะในรุ่น CROSS เท่านั้น

และยังสามารถเลือกตกแต่งหลังคาสีดำจากโรงงานได้อีกด้วย (เพิ่มเงินอีก 10,000 บาท รวมเป็น 20,000 บาท) ขณะที่สีอื่นๆ

มีให้เลือกอีก 3 สี ได้แก่ สีขาว Quartz White Pearl (เพิ่มเงิน 10,000 บาท), สีเทา Graphite Gray และสีเงิน Blade Silver Metallic

ภายใน

     ภายในห้องโดยสารของ Xpander CROSS ถูกตกแต่งเน้นความพรีเมียมมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้วัสดุสีทูโทน พร้อมด้วยแผงคอนโซลหน้าแบบ Horizontal Axis Design

ที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดเช่นกัน เสริมด้วยพวงมาลัยแบบ 4 ก้าน ที่ยกมาจากรุ่น Pajero Sport พร้อมด้วยปุ่มควบคุมเครื่องเสียงและระบบ Cruise Control อย่างเต็มรูปแบบ

ซึ่งโดยรวมแล้วช่วยให้ห้องโดยสารดูมีความหรูหราสมราคามากกว่ารุ่นเดิม

บริเวณหลังพวงมาลัยจะพบกับหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ LCD ขนาด 8 นิ้ว ที่สามารถปรับการแสดงผลได้ 3 รูปแบบ

อีกทั้งบริเวณส่วนล่างของจอยังมีกราฟิกเป็นรูปท้ายรถ Xpander CROSS เป็นกิมมิกเล็กๆ เพื่อแสดงสถานะของตัวในขณะนั้น โดยหากผู้ขับขี่มีการเหยียบเบรก

ไฟเบรกของรถที่อยู่บนหน้าจอก็จะสว่างขึ้นด้วยเช่นกัน

     Mitsubishi Xpander CROSS มาพร้อมสวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศแบบดิจิทัล แต่จะไม่สามารถแสดงอุณหภูมิเป็นตัวเลขได้

หากแต่เป็นเพียงการปรับความเย็นมาก-น้อยตามต้องการเท่านั้น อีกทั้งยังมีระบบ MAX COOL

ที่ช่วยเร่งแอร์ให้เย็นสุด แรงสุด เพื่อสร้างความเย็นภายในห้องโดยสารได้อย่างรวดเร็ว เสริมด้วยไส้กรองฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดปริมาณฝุ่นภายในห้องโดยสารลง

นอกจากนี้ ผู้โดยสารตอนหลังยังมีแอร์เหนือหลังคาบริเวณเบาะนั่งแถวที่ 2 พร้อมปุ่มปรับระดับแรงลมได้ 3 ระดับ โดยแอร์ด้านหลังจะทำงานผ่านคอยล์เย็นแยกเป็นอิสระกับแอร์ด้านหน้า

หมดห่วงปัญหาเรื่องแอร์เย็นไม่พอ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้งานท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดๆ ของเมืองไทย

     ห้องโดยสารของ Xpander CROSS ถูกจัดวางที่นั่งแบบ 3 แถว รองรับผู้โดยสารได้ 7 คน โดยเบาะนั่ง 2 แถวหน้าจะถูกหุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน (Heat Guard)

ช่วยลดความร้อนสะสมหากมีความจำเป็นต้องจอดรถทิ้งไว้กลางแดดเป็นระยะเวลานานๆ แต่จุดนี้จะมีความแตกต่างไปจากเบาะ Quole Modure ของ Pajero Sport เล็กน้อย

เนื่องจากรายนั้นนอกจากจะสามารถป้องกันความร้อนได้แล้ว ยังสามารถป้องกันความเย็นเมื่อจอดรถในพื้นที่หนาวเย็นได้อีกด้วย

แปลว่ามันจะช่วยรักษาอุณหภูมิของผิวเบาะให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์มากที่สุด ไม่ว่าสภาพอากาศภายนอกจะร้อนหรือเย็นขนาดไหนก็ตาม

 เบาะนั่งทุกตำแหน่งเป็นแบบปรับมือ โดยเบาะนั่งผู้ขับขี่สามารถปรับความสูง-ต่ำตามสรีระได้ เบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถเลื่อนหน้า-หลังและปรับเอนได้

สามารถแยกพับพนักพิงแบบ 60:40 พร้อมด้วยที่วางแขนแบบพับได้ โดยภายในจะมีหลุมวางแก้วให้ 2 ตำแหน่ง รวมถึงสามารถพับตลบไปข้างหน้าเพื่อความสะดวกในการเข้าไปยังเบาะแถวที่ 3 ได้

สเปเซอร์อลูมิเนียม 4/5 รู 4 มิล

 ส่วนครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ก็สามารถติดตั้งคาร์ซีทด้วยจุดยึดแบบ ISOFIX บนเบาะนั่งแถวที่ 2 ซึ่งมีให้ 2 ตำแหน่งทั้งซ้ายและขวา ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของลูกน้อยตลอดการเดินทาง

    ด้านระบบความบันเทิงของ Xpander CROSS ติดตั้งหน้าจอสัมผัสขนาด 9 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto ผ่านสาย USB ได้ โดยด้านหน้าจะมีช่อง USB-A สำหรับการเชื่อมต่อให้ 1 ตำแหน่ง และอีก 1 ตำแหน่งสำหรับการชาร์จมือถือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ขณะที่เบาะนั่งแถว 2 จะมีช่อง USB-A และ USB-C ให้อย่างละ 1 ตำแหน่ง โดยที่ด้านหลังของเบาะแถว 1 ยังออกแบบให้มีช่องขนาดเล็กสำหรับเสียบโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย ถือเป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานจริงได้เป็นอย่างดี

     ขณะที่เบาะนั่งแถวที่ 3 แม้ว่าจะไม่มีช่องจ่ายไฟแบบ USB มาให้ แต่ก็มีช่องจ่ายไฟขนาด 12 โวลต์มาให้แทน ซึ่งค่อนข้างมีประโยชน์สำหรับการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าที่วางอยู่ในห้องเก็บสัมภาระท้าย เช่น ตู้เย็นเคลื่อนที่ และอื่นๆ

    ระบบความปลอดภัยถือว่าติดตั้งมาให้ในระดับมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ASC, ระบบป้องกันการลื่นไถล TCL, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA,

ระบบเบรก ABS/EBD/BA, ระบบเบรกมือไฟฟ้าและระบบ Brake Auto Hold, สัญญาณไฟฉุกเฉินกระพริบอัตโนมัติ ESS, กล้องมองภาพด้านหลัง,

เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 7 ตำแหน่ง, ระบบล็อกประตูอัตโนมัติเมื่อมีความเร็ว และถุงลมนิรภัยคู่หน้า

     ไฮไลต์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Xpander CROSS คือ ระบบ AYC – Active Yaw Control หรือระบบควบคุมการขับเคลื่อนและสมดุลขณะเข้าโค้ง

พร้อมฟังก์ชันแสดงสถานะบนหน้าจอเรือนไมล์ขนาด 8 นิ้ว โดยหลักการทำงานคร่าวๆ ของระบบ AYC นั้น เมื่อผู้ขับขี่เข้าโค้งบนพื้นถนนเปียกลื่น

และรถเริ่มมีอาการหน้าดื้อ (Understeer) ระบบจะสั่งลดความเร็วล้อที่อยู่ด้านในโค้ง ควบคู่ไปกับการเพิ่มความเร็วของล้อที่อยู่ด้านหน้าโค้ง

เพื่อป้องกันไม่ให้รถเกิดการลื่นไถล ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นก่อนที่ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ASC จะเริ่มทำงาน

 

  ส่วนใครที่สงสัยว่า อ่าว! หลักการทำงานของระบบ AYC มันก็คล้ายกับระบบ ASC หนิ? แล้วจะมีระบบ AYC ไปเพื่ออะไรกันล่ะ? ก็จริงครับ ทั้งสองระบบมีการทำงานคล้ายคลึงกันมาก

เพียงแต่ระบบ ASC ยังสามารถตัดกำลังของเครื่องยนต์เพื่อป้องกันการลื่นไถลได้ ขณะที่ระบบ AYC จะทำงานเพียงลดความเร็วของล้อข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น

หรือจะเรียกได้ว่าระบบ AYC จะเข้ามาช่วยแก้อาการของรถในเบื้องต้นก่อนที่ ASC จะเริ่มทำงานนั่นเอง

     ส่วนการขับรถบนถนนแห้งปกติ โอกาสที่จะเห็นระบบ AYC ทำงานนั้นเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากช่วงล่างและยางยังคงให้ประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

จนทำให้ระบบ AYC ไม่มีโอกาสได้แสดงศักยภาพออกมา

เครื่องยนต์

     Mitsubishi Xpander CROSS ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ MIVEC DOHC ความจุ 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที

แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ ECO-Dynamic CVT สามารถรองรับน้ำมันทางเลือกสูงสุด E20 ได้

โดยมีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยตามที่ปรากฏบน ECO Sticker อยู่ที่ 16.4 กม./ลิตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างประหยัดน้ำมันทีเดียวเมื่อเทียบกับขนาดตัวถังและห้องโดยสารที่รองรับได้ถึง 7 ที่นั่ง

การขับขี่

     หากดูตามสเปกเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ที่มีกำลังสูงสุด 105 แรงม้า แม้ว่าตัวเลขอาจจะดูน้อยสำหรับการแบกรับน้ำหนักตัวถังที่รองรับได้ 7 ที่นั่งเช่นนี้ แต่เมื่อมีเกียร์อัตโนมัติ CVT เข้ามาช่วย

ก็ทำให้การส่งกำลังเป็นไปอย่างลื่นไหล สามารถส่งแรงบิดลงสู่ล้อได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและไม่สูญเสียกำลังเหมือนกับเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีดเดิม

การใช้งานโดยทั่วไปจึงถือว่าเหลือเฟือ สามารถเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ได้อย่างไร้กังวล

     ขณะที่ช่วงล่างก็ให้ความนุ่มนวลและมั่นคงรองรับสภาพถนนของเมืองไทยได้เป็นอย่างดี รวมถึงการเก็บเสียงจากช่วงล่างและเสียงลมที่เล็ดลอดเข้ามาขณะใช้ความเร็วสูงก็อยู่ในระดับต่ำจนน่าพอใจ

ทำให้การเดินทางในครอบครัวรู้สึกผ่อนคลาย โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการติดตั้งกระจกบังลมหน้าแบบกันเสียงรบกวน ทำให้เสียงลมปะทะจากด้านหน้าลดลงนั่นเอง

  ในภาพรวมพบว่า Mitsubishi Xpander CROSS เป็นรถยนต์อเนกประสงค์ที่ครอบคลุมการใช้งานได้หลากหลาย เหมาะสำหรับใช้เป็นรถคันเดียวของบ้าน ขับไปทำงานในวันธรรมดา

และพาครอบครัวไปเที่ยววันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือต้องการใช้เป็นรถคันที่สองสำหรับแม่บ้านเพื่อรับ-ส่งลูกไปโรงเรียนก็ได้เช่นกัน

   ด้วยระดับราคาที่เข้าถึงได้ไม่ยากเย็นนักอยู่ที่ 946,000 บาท รถคันนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นครอบครัว ต้องการเปลี่ยนจากรถอีโคคาร์หรือรถขนาดเล็ก มาเป็นรถอเนกประสงค์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รองรับการใช้งานได้หลากหลายกว่า โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินข้ามล้านบาท แต่ก็ได้ความอรรถประโยชน์และความสมบุกสมบันใกล้เคียงกับรถเอสยูวีแท้ๆ

ที่มา : https://www.sanook.com/auto/86899/